วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

ปิดเทอมอันตราย(สารวัดประจำเดือนเมษายน 2011)


"มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะมีเงินส่งลูกให้ไปเรียนพิเศษ หรือเข้าค่ายทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วง ปิดเทอม แต่มีเด็กส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่กับสิ่งไม่สร้างสรรค์ทั้งสมองและสติปัญญา“...เป็นการระบุของ นพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
   
ตอกย้ำถึงสถานการณ์ปัญหานี้ จากผลสำรวจเอแบคโพลในปี 2551 พบว่า ช่วงปิดเทอมเด็กและเยาวชน 84.9% ใช้เวลาไปกับการชอปปิงตามห้าง อีก 67.3% ดูโทรทัศน์/วิดีโอ ขณะที่ 62.1% เล่นอินเทอร์เน็ต และ 52.2% เล่นเกมคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นเมื่อสำรวจ
กิจกรรมไม่สร้างสรรค์ ที่เยาวชนทำในช่วงปิดเทอม อันดับแรก 53.8% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊เปลือย อีก 41.5% ดูวิดีโอ-ดีวีดีที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ 29.1% มีเพศสัมพันธ์กับแฟน/คู่รัก และ 18.3% ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ทั้งนี้ ในช่วงปิดเทอมเด็กและวัยรุ่นนิยมเข้าไปใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งมัก พบปัญหา ถูกข่มขู่ รีดไถ มากที่สุด รองลงมา ถูกทำร้ายร่างกาย ตบ ตี ชก ต่อย, เป็นหนี้ร้านอินเทอร์เน็ต, ถูกลวนลามทางเพศ พยายามข่มขืน, ถูกบังคับให้สูบบุหรี่ตามลำดับ   

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนเด็กหายออกจากบ้านมีมากขึ้น จากสถิติศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี มูลนิธิกระจกเงา พบว่าช่วงต้นปี 2553 มีเด็กหายถึง 70 คน โดย 90% เป็นเด็กผู้หญิง และจากสถิติที่ศูนย์เฝ้าระวังฯ รับแจ้งคนหายผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ในปี 2552 เฉลี่ยวันละ 10-15 ราย โดย 80% ติดตามกลับมาได้ และอีก 1% เสียชีวิต โดยเด็กที่หายไปส่วนใหญ่เป็นหญิง อายุ 11-15 ปี สอดคล้องกับข้อมูลการเสียชีวิตของเด็ก ในกลุ่ม 1-14 ปี ซึ่งเฉลี่ยเดือนละ 280 คน และพบว่า ในช่วงปิดเทอม เดือน เม.ย. เสียชีวิตมากที่สุด 400 คน รองลงมาคือ มี.ค. พ.ค. และ ต.ค. โดยสาเหตุอันดับ 1 คือ จมน้ำ 47% คิดเป็น 5-6 คน/วัน ในช่วงปิดเทอม รองลงมาคือ อุบัติเหตุอื่น ๆ และอันดับ 3 คือ อุบัติเหตุจราจร...” นพ.กฤษดา กล่าวและว่า 

พร้อมทั้งบอกว่า...กับการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” นั้น สสส. ได้รวบรวม 32 กิจกรรม แบ่งเป็น 5 ด้านคือ...1.สนุกสุดมันส์กับกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อบรมทำหนังสั้น ผลิตเพลงและมิวสิก- วิดีโอ ดนตรี ละคร ศิลปะ, 2.แค่ขยับเท่ากับเริ่มออกกำลังกาย อาทิ สอนว่ายน้ำ กิจกรรมเดิน-วิ่ง, 3.ฝึกทักษะสร้างอาชีพ, 4.อบรมกิจกรรมเสริมปัญญา, 5.ค่ายอาสาสร้างสุข อาทิ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ

ขณะที่ นพ.สุริยเดช บอกว่า...กิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์ ที่จะแก้ปัญหากิจกรรมไม่สร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมได้นั้น พ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมี 6 ฐานกิจกรรมสำคัญคือ 1.ดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง 2.ศิลปะ วาดภาพ สร้างงานศิลปะ ทั้งสองกิจกรรมนี้ช่วยสร้างจินตนาการให้เด็ก 3.เที่ยวพิพิธภัณฑ์ ช่วยสร้างภูมิปัญญานอกหลักสูตร เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ 4.เที่ยววัด ช่วยปลูกฝังจิตสำนึก เพิ่มทักษะชีวิตและความพอเพียง 5.พลังกาย เพิ่มการออกกำลังกาย ผจญภัย ท่องเที่ยว 6.ทำสิ่งที่ชอบ สามารถสร้างพลังตัวตนให้กับเด็ก เพิ่มพลังครอบครัว กิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะได้ทุกวัย

“ปิดเทอมสร้างสรรค์” เรื่องนี้ควรต้องช่วยกันทำเพื่อมิให้เด็กไทยมีปัญหามากไปกว่าที่เป็นอยู่!!.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลี่นิวส์ 26 มีนาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น